วันแม่แห่งชาติ
ประวัติวันแม่
แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป
มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความ สำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวัน แม่ของชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
2. จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ
3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
4. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่
การจัดงานวันแม่แห่งชาติในประเทศไทย
งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่ คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
เพลงที่ใช้ในวันเเม่
ค่าน้ำนม คือ เพลงอย่างเป็นทางการที่ใช้ในงานวันเเม่เเห่งชาติ เเต่งขึ้นโดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ ได้เรียบเรียงบทเพลงที่เรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอมตะ และเป็นงานเพลงชิ้นเอก ซึ่งได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนระลึกถึงบุญคุณของเเม่เเละวันคืนเก่าๆ ของวิถีไทยในสมัยก่อน
เนื้อเพลง นอกจากจะให้เราระลึกถึงพระคุณเเม่เเล้วยังทำให้เรามองเห็นขนบดั้งเดิมตามวิถีไทย หลายอย่างจากเนื้อเพลง เช่นการศึกษาของผู้ชายไทยสมัยก่อนนั้น มักจะอยู่ในวัดวาอาราม ซึ่งเป็นแหล่งสอนสั่งความรู้ ทางโลก อ่านออกเขียนได้ และ ทางธรรม อันได้แก่ การถือศีล และยิดมั่นในพระรัตนไตร นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากลูกชายบ้านใหน ได้บวชเรียน ก็จะส่งแผ่ อานิสงค์ไปให้กับพ่อแม่ ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่ที่ดีๆ เมื่อถึงกาลแตกดับ
ท่วงทำนองเสนาะโสต และ ทุ่มเย็น กับคำร้องที่ตรงไป ตรงมา ชวนให้นึกภาพตามได้ไม่ยาก แม้แต่เด็กเล็กๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครฟังเพลงนี้แล้วจะต้องหลั่งน้ำตาให้กับความซาบซึ้งแห่งรักที่แม่ มีให้เรา
เพลง ค่าน้ำนม
แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล
แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม
ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋าลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน
ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย